แก้ไขล่าสุด วันที่ 27th August, 2023 at 08:32 am
สำนักกฎหมาย ส.ป.ก. ขอแจ้งว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากไม่มีหลักเกณฑ์ใดในระเบียบใหม่ที่อนุญาตให้เกษตรกรซื้อขายที่ดินได้ เพราะระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ. 2564 (ระเบียบฯ พ.ศ. 2564 หรือ ระเบียบใหม่) เป็นเพียงระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติของเกษตรกร ลำดับการพิจารณา และวิธีการจัดที่ดินเท่านั้น ซึ่งเมื่อเกษตรกรได้รับการจัดที่ดินตามระเบียบฉบับนี้แล้ว เกษตรกรมีหน้าที่ต้องเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และห้ามมิให้มีการซื้อขายที่ดินตามเงื่อนไขของระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ. 2535 (ระเบียบฯ พ.ศ. 2535) ซึ่งเป็นระเบียบอีกฉบับหนึ่งที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปตามกฎหมาย ส.ป.ก. กล่าวคือ หาก ส.ป.ก. พบว่าเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินทำการซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก. จะต้องดำเนินการสั่งให้เกษตรกรรายดังกล่าวสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามระเบียบฯ พ.ศ. 2535 กำหนด
และคำถามที่ 2. ถามว่าแล้วการออกประโยชน์ดังกล่าวเกษตรกรอย่างพวกเราจะได้ประโยชน์อะไรครับ ? เข้าใจว่าคำถามที่ Intranet Alro ถามคงจะหมายถึง เกษตรกรจะได้รับประโยชน์อะไรจากระเบียบใหม่ ?
สำนักกฎหมาย ส.ป.ก. ขอตอบว่าระเบียบใหม่ได้นำระบบการยื่นคำขอออนไลน์มาให้บริการแก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มช่องทางในการอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ระเบียบใหม่ยังมีหลักการที่รองรับสิทธิของเกษตรกรในการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองก่อนที่ ส.ป.ก. จะนำที่ดินกลับมาจัดให้แก่เกษตรกรรายใหม่อีกด้วย เช่น
– กรณีเกษตรกรต้องการส่งต่อทรัพย์สินที่ติดอยู่กับที่ดินและหนี้สินที่มีอยู่กับ ส.ป.ก. ให้แก่คู่สมรส บุตร หรือเครือญาติของตนเอง เกษตรกรสามารถยื่นคำขอต่อ ส.ป.ก. เพื่อสละสิทธิในที่ดินให้แก่บุคคลดังกล่าวที่มีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรได้ โดยระเบียบใหม่นี้ได้ขยายขอบเขตของบุตรและเครือญาติของเกษตรกรให้มีความหมายกว้างขวางขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้สิทธิในการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองได้ตามความประสงค์ นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถทำหนังสือต่อ ส.ป.ก. เพื่อแสดงเจตนาก่อนเสียชีวิตได้ด้วยว่าต้องการให้ทายาทรายใดได้ใช้สิทธิขอรับการจัดที่ดินต่อจากตน ซึ่งระเบียบใหม่นี้ก็ได้ขยายขอบเขตของทายาทให้มีความหมายเทียบเท่ากับสิทธิในการรับมรดกตามกฎหมายทั่วไปส่งผลให้เกษตรกรและทายาทสามารถใช้สิทธิได้มากกว่าหลักเกณฑ์เดิม
– กรณีเกษตรกรชราภาพ หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือไม่ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมในที่ดิน ส.ป.ก. อีกต่อไป แต่เกษตรกรยังคงมีทรัพย์สินติดอยู่กับที่ดินหรือมีหนี้สินอยู่กับ ส.ป.ก. โดยที่เกษตรกรไม่มีคู่สมรสและบุตรหรือมีแต่บุคคลดังกล่าวไม่ประสงค์จะรับการจัดที่ดินจาก ส.ป.ก. แล้ว ระเบียบฉบับนี้ได้รองรับสิทธิให้เกษตรกรรายเดิมสามารถยื่นคำขอต่อ ส.ป.ก. ได้ว่าตนเองต้องการส่งต่อทรัพย์สินที่ติดอยู่กับที่ดินและหนี้สินนั้นให้เกษตรกรรายใหม่ และเมื่อ ส.ป.ก. ได้รับคำขอรับการจัดที่ดินจากเกษตรกรรายใหม่แล้ว หากเกษตรกรรายใหม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายและระเบียบกำหนด ส.ป.ก. สามารถจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรรายใหม่ตามความประสงค์ของเกษตรกรรายเดิมได้ โดยเกษตรกรรายใหม่จะต้องรับช่วงต่อทรัพย์สินที่ติดอยู่กับที่ดินและหนี้สินที่เกษตรกรรายเดิมมีอยู่กับ ส.ป.ก. ไปด้วย