ไฟแนนซ์คิดค่าปรับกับค่าทวงถามเกินจริง

แก้ไขล่าสุด วันที่ 27th August, 2023 at 08:12 am

ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้

เรื่องอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆในการทวงถามหนี้

โดยลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2564 มีผลบังคับหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน เป็นต้นไป หรือตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. เป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้รายย่อยกว่า 12 ล้านกว่าบัญชี ที่ผ่านมารัฐบาลได้รับข้อร้องเรียนเรื่องการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรมปีละหลายพันเรื่อง แบ่งได้ 3 ส่วน คือ 1.การเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ในอัตราสูงมากและแพงเกินสมควร โดยเฉพาะค่าทวงถามหนี้ภาคสนามสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อ ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยถูกเรียกเก็บ 2-4 หมื่นบาทต่อครั้ง 2.การเก็บค่าทวงถามหนี้แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้กี่งวดก็ได้ ทำให้ลูกหนี้บางรายถูกเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้เป็นสิบๆงวด 3.ความเดือดร้อนที่พบส่วนใหญ่จะตกอยู่กับประชาชนที่จ่ายค่างวดไม่สูงนัก กลายเป็นว่าค่าทวงถามหนี้อาจจะใกล้เคียง หรือบางครั้งสูงกว่าค่างวดที่ไปทวงเสียอีก

ดังนั้น คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ จึงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ ต่อไปนี้ 1.ให้คิดค่าทวงถามหนี้กรณีทั่วไป ไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ กรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระ 1 งวด และให้คิดไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ กรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด

2.กรณีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ กำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ภาคสนามให้เก็บเพิ่มเติมตามที่เกิดขึ้นจริง ไม่เกิน 400 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ และจะเก็บได้ต่อเมื่อลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด

3.เพื่อแก้ปัญหาการเก็บค่าทวงถามหนี้หลายสิบงวดแบบไม่มีข้อจำกัด กำหนดให้การเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้จะยุติ เมื่อผู้ให้บริการได้รับชำระหนี้ครบตามจำนวน หรือมีหนังสือบอกเลิกสัญญา แล้วแต่เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อน

4.ค่างวดที่ต่ำกว่า 1,000 บาท ไม่ให้มีการเก็บค่าทวงถามหนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนรายย่อยที่จ่ายค่างวดจำนวนน้อยๆ ไม่ให้ต้องจ่ายค่าทวงถามหนี้แพงเกินไป เช่น มีค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ 750 บาท ถ้าลูกหนี้ค้างชำระ 1 งวด ไม่ให้มีการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ แต่ถ้าค้างชำระ 2 งวด ค่างวดค้างชำระสะสมจะเท่ากับ 1,500 บาท กรณีเช่นนี้สามารถเก็บค่าทวงถามหนี้ได้ 50 บาท

source: https://www.thairath.co.th/news/politic/2166571

Share on: